คอปเปอร์ ไวร์ด จับมือ วีเน็ท แคปปิทอล รุกพื้นที่ขอนแก่น สร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ บนพื้นที่ ๓๐๐ ตร.ม. มอบให้โรงเรียนบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น เตรียมทำพิธีเปิด ๒๖ ตุลาคม ศกนี้

Group: CSR News | 11 September 2019 | Views (7,044)
คอปเปอร์ ไวร์ด จับมือ วีเน็ท แคปปิทอล รุกพื้นที่ขอนแก่น  สร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ บนพื้นที่ ๓๐๐ ตร.ม.  มอบให้โรงเรียนบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น เตรียมทำพิธีเปิด ๒๖ ตุลาคม ศกนี้

(๑๑ ก.ย. ๖๒) บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด นำโดยนายณรงค์ อิงค์ธเนศ ดำเนินการสร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ บนพื้นที่ ๓๐๐ ตารางเมตร มอบให้โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) อำเภอเมืองขอนแก่น ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อจังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะ ในธีม ‘โลกอนาคต โดย ผศ. ดร. สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดทำพิธีเปิดวันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ศกนี้

นายณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด และโครงการโลกนิทานของหนู กล่าวว่า “บริษัทได้สร้างห้องสมุดบริจาคให้โรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยทำต่อเนื่องปีละ ๑ โรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนในเขตปริมณฑลก่อน จากนั้นจึงขยายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียง เมื่อเราต้องไปสร้างห้องสมุดในที่ที่ไกลออกจากกรุงเทพฯ มากขึ้น เราจึงเลือกจังหวัดที่มีสำนักงานสาขาของบริษัทในกลุ่มวีเน็ทตั้งอยู่ เพื่อให้พนักงานประจำสาขาเป็นตัวแทนจากส่วนกลางไปช่วยดูแลโรงเรียนได้ด้วย”

“ปีนี้เรามีนโยบายสร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่และเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานจังหวัดหนึ่ง เราหวังว่าห้องสมุดในรูปแบบที่เราทำนี้จะเป็นตัวอย่างให้นักธุรกิจในขอนแก่นหรือในละแวกใกล้เคียงนำไปสร้างบริจาคให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ต่อไป”

“แม้เราจะอยู่ในโลกยุคดิจิทัลแล้ว แต่การส่งเสริมให้เด็กเล็กอ่านจากหนังสือยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราปล่อยให้เด็กเริ่มต้นการอ่านจากสื่อดิจิทัล เด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นเพราะข้อมูลและสื่อบนโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เด็กอาจไม่เข้าใจความหมายของหนังสือที่แท้จริงว่าคืออะไร การอ่านหนังสือจึงเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง จินตนาการที่เกิดจากการอ่านก็เช่นเดียวกัน เด็กหลายคนอ่านหนังสือเรื่องเดียวกัน จินตนาการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผมยังเชื่อมั่นว่า หนังสือคือสื่อที่เหมาะสมกับการส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านและฝึกให้มีจินตนาการได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก เราจึงเน้นสร้างห้องสมุดมอบให้โรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ เท่านั้น และยังคงมุ่งมั่นที่จะทำกิจกรรมตอบแทนสังคมภายใต้โครงการโลกนิทานของหนูอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายณรงค์กล่าว

การออกแบบห้องสมุดของโครงการโลกนิทานของหนูในแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และบริบทของโรงเรียนเป็นหลัก สำหรับห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ ที่เตรียมมอบให้แก่โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) จะมาในธีม โลกอนาคต ออกแบบโดยกลุ่ม พี เอช วาย เอ็น ดีซายน์’ (P.H.Y.N. design) นำโดย ผศ. ดร. สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับทีมงานสถาปนิกอีก ๓ ท่าน ได้แก่ ผศ. นิธิวดี ทองป้อง คุณวิลาสินี เกิดนอก และคุณธีรพัฒน์ หนองหารพิทักษ์

อาจารย์สัญชัยกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับโครงการโลกนิทานของหนูในครั้งนี้ว่า “ด้วยความที่พวกเราเป็นอาจารย์และได้เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับศิลปะเด็กมาบ้าง ทำให้เรารับรู้ได้ตั้งแต่แรกที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่มันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ได้รวมร่วมไปกับจุดเล็กและจุดใหญ่หลาย ๆ จุด ก่อตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ให้แก่เด็กนักเรียน และเด็กนักเรียนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติอย่างสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต พวกเราทุกคนภูมิใจมากครับ”

สำหรับภาพศิลปะบนผนังห้องสมุดฯ แห่งที่ ๑๒ ได้รับการสร้างสรรค์โดยนักศึกษากลุ่ม แม่สีเรือน กว่า ๑๘๐ คน นำทีมโดย ผศ. ดร. กฤษฎา วงศ์คำจันทร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกลุ่ม แม่สีเรือน นี้ เกิดจากการรวมตัวกันของอาจารย์และนักศึกษาจาก ๓ คณะ ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา (แม่) คณะศิลปกรรมศาสตร์ (สี) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เรือน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ถนนมะลิวัลย์ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน ๖๖๔ คน

ขณะนี้ห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ ๑๒ ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว กำหนดทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

Keyword: library,Fairy Tale